วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

ธนาคารกรุงเทพ ปรับใหญ่ทุกเซ็กเม้นต์

วุฒิกร สินธุวาทิน
ธนาคารกรุงเทพ ปรับใหญ่ทุกเซ็กเม้นต์

        ถ้าเอ่ยถึงชื่อของธนาคารกรุงเทพในสายตาของผู้บริโภค หลายคนอาจจะมองว่าสถาบันการเงินแห่งนี้ ไม่ค่อยจะมีความเคลื่อนไหวเท่าใดนักเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่แข่งกันสร้างแบรนด์อย่างเอาเป็นเอาตาย
 แต่ในมุมมองของผู้บริหารอย่างคุณทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นั้นอธิบายว่าที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพไม่เคยหยุดพัฒนาเพื่อผู้บริโภคแม้แต่วันเดียว เพียงแต่ว่าการพัฒนาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การปรับปรุงการให้บริการสาขา รวมถึงเรื่องของการพัฒนาระบบและเทคโนโลยีที่มารองรับการให้บริการเสียมากกว่า

 “ภาพของธนาคารกรุงเทพในสายตาของผู้บริโภคค่อนข้างจะหลากหลาย เพราะเรามีฐานลูกค้ากว้าง ลูกค้าเก่าของเราจะมองเราเป็นธนาคารเก่าแก่น่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันคนบางกลุ่มก็มองว่าเราห่างเหินกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นมุมมองของผู้บริโภคบางกลุ่ม บางวัยที่เราอาจจะยังเข้าไม่ถึง แต่เราต้องรับฟัง”
การทำตลาดในส่วนรีเทลของธนาคารกรุงเทพ คุณทวีลาภ กล่าวย้ำว่า สิ่งที่กำลังทำในขณะนี้เป็นไปตามขั้นตอนและตามความเหมาะสมกับสภาพตลาดแล้ว
เรื่องการทำ Branding ผมมองว่าสถาบันการเงินมีความต่างจากสินค้าคอนซูเมอร์ทั่วไปในแง่ของการทำการตลาด กล่าวคือจะต้องรักษาลักษณะเฉพาะคือ ความมั่นคง ความไว้วางใจ และความเข้าใจลูกค้า ส่วนเรื่องการทำโฆษณาที่หวือหวา ผมคิดว่าเราต้องรักษาระยะห่างกับผู้บริโภคกับความเป็นสถาบันการเงินที่ความน่าเชื่อถือยังเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าสินค้าของเราบางอย่างเข้าใจยาก หรือว่าลองใช้แล้วไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เราก็ไม่สบายใจ เราจึงต้องรักษาบาลานซ์ตรงนี้”

การที่ธนาคารกรุงเทพเดินเกมด้วยวิธีใช้การสื่อสารการตลาดที่ไม่หวือหวาเท่ากับคู่แข่งก็ไม่ได้หมายความว่าในเชิงการแข่งขันธนาคารกรุงเทพจะต้องเป็นรองเสมอไป
อย่าลืมว่าจุดแข็งของธนาคารกรุงเทพนั้นอยู่ที่ฝั่งของ B2B ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่ของไทยในสมัยก่อนแทบจะผูกปีขาดกับการกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพไปลงทุน
ธนาคารกรุงเทพเองก็มีนโยบายเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่ตัวเองปล่อยกู้ในบางบริษัทที่มีศักยภาพ แน่นอนว่าการเป็นทั้งเจ้าหนี้และพันธมิตรที่แข็งแกร่งก็ย่อมมีผลพลอยได้ตามมาอย่างหนึ่งก็คือ องค์กรเหล่านี้มักจะใช้บัญชีของธนาคารกรุงเทพเป็นบัญชีเงินเดือน หรือ Payroll และพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ก็มักจะนิยมใช้บัญชีเงินเดือนเป็น Main Bank
ถ้ามองในภาพรวมธนาคารกรุงเทพจึงมีศักยภาพที่ไม่เป็นรองใคร โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพมีสินทรัพย์รวมมากถึง 2.1 ล้านล้านบาท และมีผลกำไรถึง 27,337 ล้านบาท

ในส่วนของตลาดรีเทลธนาคารกรุงเทพก็ยังคงเป็นธนาคารที่มีฐานลูกค้ามากที่สุดในประเทศไทยด้วยบัญชีเงินฝากรวมประมาณ 18 ล้านบัญชี โดยมีสาขามากกว่า 1, 000 แห่ง มีเครื่องเอทีเอ็มและเครื่องรับฝากเงินสดอัตโนมัติมากกว่า 7,800 เครื่องทั่วประเทศ
 โฟกัสมาลงที่ตลาดคอนซูเมอร์ คุณทวีลาภ มองว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ตลาดธนาคารมีความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงที่สุด กล่าวคือ มีการแตกสินค้าออกเป็นเซ็กเม้นต์มากขึ้น
 “สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนทำงานมีกำลังซื้อสูงขึ้น คนเลยมาโฟกัสตรงนี้มากขึ้น ผมว่าเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจ ในมุมมองของคนทั่วไปอาจจะมองว่ากลุ่มรายย่อยมีความเสี่ยงสูง แต่ความจริงคือพอรายย่อยทั้งหมดมารวมกันแล้วจะมีการกระจายความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะคัดลูกค้าอย่างไร
 ยิ่งในปัจจุบันธนาคารมีการทำเซ็กเม้นต์มากขึ้น จากเดิมที่มีแค่บัญชีทั่วไป แค่พักเงิน ก็มีการเพิ่มความต้องการสูงขึ้น จากแค่ฝากเงิน ก็มีการใช้บัตรเครดิต หรือซื้อกองทุน ตลาดรีเทลจึงมีการเปลี่ยนแปลงสูง”
 โดยธนาคารกรุงเทพเองก็มีการแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มเบสิก หรือลูกค้าทั่วไป กลุ่มแอดวานซ์ที่มีความต้องการมากขึ้น และกลุ่มไฮ เน็ตเวิร์คซึ่งเป็นยอดพีระมิด

 “เราให้ความสำคัญทุกกลุ่ม เพราะทั้งหมดถือเป็นลูกค้ารายย่อย เรามองทั้งพอร์ต แต่วิธีการในการเข้าถึงลูกค้าอาจจะทำไม่เหมือนกัน ลูกค้าในกลุ่มเบสิกเราก็ให้ความสำคัญในเรื่องของการวางเครือข่าย เรื่องขยายเอทีเอ็ม ส่วนที่ขยับขึ้นมาก็มักจะมีความต้องการสูงขึ้น เช่น มีการมองเรื่องการลงทุน เราก็ต้องจัดสินค้าให้ตรงกับความต้องการ ส่วนที่เป็นไฮ เน็ตเวิร์ค เรายิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ
 ขณะนี้ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปมาก เช่น มีเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพราะว่ากรุงเทพฯการเดินทางลำบาก ทำให้ Internet Banking โต 30-40% ต่อปี ซึ่งเป็นอะไรที่เราต้องโฟกัส จุดที่สองคือ ลูกค้ามักจะเลือกให้ความสำคัญในเรื่องของสาขาใกล้บ้านและที่ทำงาน สาขาในมอลล์ หรือว่าช้อปปิ้งสโตร์คนจะเข้าเยอะเป็นพิเศษ คนจะเข้ามาใช้บริการนอกเหนือจากเวลาปกติมากขึ้น ตอนเย็นหลังเลิกงาน เสาร์อาทิตย์ คนจะไปทำพร้อมๆ กับการซื้อของ เทรนด์ในการมาธนาคารนอกเวลาจะมีมากขึ้น เราก็ต้องปรับการให้บริการที่ไม่ใช่สาขา หรือปรับสาขาให้มีการบริการยาวขึ้น หรือเปิดวันเสาร์ อาทิตย์” คุณทวีลาภ ฉายภาพของการเปลี่ยนแปลง

 เหนือสิ่งอื่นใดความต้องการของธนาคารกรุงเทพก็คือ จะทำอย่างไรให้ตัวเองเป็น Main Bank ของผู้บริโภค เพราะปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมีบัญชีมากกว่า 1 บัญชี และความต้องการที่สูงขึ้นไปกว่านั้นก็คือ การให้ลูกค้าแต่ละคนใช้สินค้าของธนาคารมากกว่า 1 โปรดักต์

 พบว่าในปัจจุบันลูกค้าที่ใช้ธนาคารกรุงเทพเป็นบัญชีหลักจะมีตัวเลขการใช้สินค้าเฉลี่ยประมาณ 2 โปรดักต์ขึ้นไป ซึ่งทางธนาคารมองว่ายังเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนัก และสามารถเติบโตได้อีกมาก

 โดยกลยุทธ์ที่ธนาคารใช้ก็คือ การ Bundle สินค้าในพอร์ตทั้งหมดเข้าหากัน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝาก Internet Banking บัตรเครดิต สินเชื่อที่อยู่อาศัย บริการประกันชีวิตผ่านธนาคาร รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน อาทิ กองทุนรวม กองทุนตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล
 “การ Bundle สินค้าเราก็ต้องทำมากขึ้น เพียงแต่ว่าสินค้าพื้นฐานต้องเหมาะสมชัดเจน เช่นรายย่อยก็ต้องบัญชีเงินฝากก่อน แล้วจึงต่อยอดไปเป็นสินค้าอื่น อย่างเช่น เปลี่ยนจากเงินฝากเป็นกองทุน หรือบัตรเครดิต แต่ทุกอย่างต้องเริ่มจากการพัฒนาสินค้าพื้นฐานให้ชัดเจนแล้ว การต่อยอดจะต้องไม่ยุ่งยากไม่ซับซ้อน”

 สิ่งที่น่าจับตาเป็นพิเศษสำหรับธนาคารกรุงเทพในปีนี้ก็คือ การทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อทำแคมเปญสื่อสารการตลาด “ทุกความสุขยิ่งใหญ่เสมอ” เพราะก่อนหน้านี้เป็นเวลาร่วม 10 ปี ธนาคารกรุงเทพแทบจะไม่ได้ทำแคมเปญโฆษณาใหญ่ๆ ออกมาเลย

 ส่วนรายละเอียดของแคมเปญนี้ก็คือ จะมีหนังโฆษณาออกอากาศทั้งสิ้น 4 ธีม ที่นำเสนอเรื่องราวกิมมิคเกี่ยวกับความสุขเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของคนไทย คือ เรื่อง เดินกลับบ้าน, ไข่ดาว, เก็บเสื้อ, เหลาดินสอ ซึ่งก็มีทั้งที่เป็นหนังคอร์ปอเรท และที่ขายโปรดักต์

 “แคมเปญโฆษณานี้เป็นกิจกรรมของเราที่เริ่มทำหลังจากที่ไม่ได้ทำมานาน เรื่องของ Message เราต้องการสื่อเรื่องของความผูกพันธ์ของเราที่มีมาอย่างยาวนาน ส่วนแรกเราได้ดำเนินการไปแล้ว ส่วนเรื่องการปรับปรุงช่องทางของเราก็ต้องทำอย่างต่อเนื่องและต้องทำให้ดีขึ้น ถัดมาในส่วนของสินค้าเราก็ต้องต้องเพิ่มความหลากหลาย และตอบสนองความต้องการให้มากขึ้น แต่เราก็เชื่อว่าสินค้าตอนนี้ในตลาดกับสิ่งที่เรามีตอนนี้ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ จะแตกต่างก็เพียงการสื่อสารเท่านั้น ว่าทำอย่างไรจะให้ตรง ชัดเจน และเรียกความสนใจได้ดีขึ้น”

 คงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของธนาคารกรุงเทพนับจากนี้ไปให้ดี เพราะการออกแคมเปญโฆษณาชุดดังกล่าวนี้ จะว่าไปแล้วก็เป็นเพียงแค่การยืดเส้นยืดสาย หลังจากที่ไม่ได้ Exercise ผ่านหน้าจอทีวีมานานเท่านั้นเอง





ที่มา : http://www.brandage.com/Modules/DesktopModules/Article/ArticleDetail.aspx?tabID=7&ArticleID=7490&ModuleID=701&GroupID=1790 
โดย นางสาว จุฑารัตน์  ยมนานนท์ รหัส 002

สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2557

ชูกลยุทธ์'ดอกเบี้ย'-เพิ่มความสะดวกเลือกระยะฝากได้


ในกลุ่มของแคมเปญที่เน้นระดมเงินฝากระยะกลางถึงระยะยาว  ข้อดี คือ อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากระยะสั้น และถือเป็นการล็อกอัตราดอกเบี้ย หากผู้ฝากกังวลต่อสถานการณ์ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย

แคมเปญฝากยาวที่จ่ายดอกเบี้ยสูงสุด ขณะนี้ 'แบงก์กรุงไทย'จ่ายดอกเบี้ย 4.00% แต่ขณะเดียวกันก็ต้องฝากยาวถึง  22 เดือน ภายใต้แคมเปญ 'เงินฝากประจำใจถึง' รับฝากขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน เปิดรับฝาก ระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน - 31 กรกฎาคม 2555  ซึ่ง 'ชัยณรงค์ เอื้อสิทธิชัย' ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศว่า  อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงที่สุดในปีนี้ เหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการได้รับผลตอบแทนสูง สำหรับเงินฝากระยะยาว   อย่างไรก็ตาม แคมเปญดังกล่าว เมื่อหักภาษีแล้วจะเหลือดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 3.40%   



แคมเปญธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวบัญชีเงินฝาก ระยะเวลา 11 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี กำหนดเปิดบัญชีด้วยจำนวนเงินขั้นต่ำ 200,000 บาท  และนำฝากแต่ละยอดเงินฝากไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2555


ก่อนหน้านั้น เมื่อประมาณกลางเดือน พ.ค. แบงก์เกียรตินาคิน ออกเงินฝากประจำ 15 เดือน วงเงินรับฝากขั้นต่ำ 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 3.80% โดยผู้ฝากสามารถเลือกรับดอกเบี้ยเป็นรายเดือนสำหรับยอดเงินฝากตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป





ที่มา : http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=126691:2012-06-13-04-36-03&catid=173:2009-05-19-15-25-04&Itemid=532#.U1c2kvmSyzs
สืบค้นโดย นางสาว จุฑารัตน์ ยมนานนท์ รหัส 002
สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557

ธนาคารกรุงเทพ มอบรางวัลแก่ผู้โชคดีที่ทำธุรกรรมผ่านเอทีเอ็มและไอแบงก์กิ้ง จาก แคมเปญ "ลุ้นช้อปจุใจ...โอน จ่าย เติม กับธนาคารกรุงเทพ"



6 มีนาคม 2557



ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (ที่ 2 จากขวา) นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (ที่ 3 จากซ้าย) และนายอาจหาญ เพ็ชรดี เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Senior Vice President โครงการประเมินศักยภาพทางธุรกิจ (ที่ 2 จากซ้าย) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมมอบรางวัลบัตรกำนัลเทสโก้ โลตัส มูลค่า 100,000 บาท แก่นางสาวคัทลียา พลากรกิจวัฒนา (ที่ 3 จากขวา) ลูกค้าผู้โชคดีประจำเดือนธันวาคม 2556 จากแคมเปญ "ลุ้นช้อปจุใจ...โอน จ่าย เติม กับธนาคารกรุงเทพ" ที่ทำธุรกรรมโอนเงินข้ามเขต โอนเงินต่างธนาคาร ชำระค่าสินค้าและบริการ และเติมเงินโทรศัพท์มือถือ ผ่านเครื่องบัวหลวงเอทีเอ็มและบริการ
บัวหลวง ไอแบงก์กิ้งทางคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2556 ทั้งนี้ ธนาคารได้ทำการจับรางวัลเพื่อมอบบัตรกำนัลเทสโก้ โลตัส มูลค่า 100,000 บาท รวม 3 รางวัล และมูลค่า 500 บาท อีก 1,500 รางวัล มูลค่ารวม 1,050,000 บาท โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้โชคดีได้ที่เว็บไซต์www.bangkokbank.com


ที่มา:http://www.bangkokbank.com/BangkokBankThai/AboutBangkokBank/AboutUs/MediaRoom/2014/March/Pages/PressRelease6Mar2014.aspx
สืบค้นโดย นางสาว จุฑารัตน์  ยมนานนท์ รหัส 002
สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557

ธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับ บตท. ลงนามโครงการด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์และเพิ่มทางเลือกแก่ลูกค้ารายย่อยทั่วไป


22 เมษายน 2557


ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (กลาง) นางพิมลพร พูลนาผล เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Senior Vice President ฝ่ายผลิตภัณฑ์และช่องทางบริการ (ที่ 2 จากขวา) และนางวรุณ สร้อยสั้น เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Senior Vice President ฝ่ายผู้จัดการใหญ่ (ขวา) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ลงนามร่วมกับ นางพรนิภา หาชัยภูมิ กรรมการและผู้จัดการ (ที่ 2 จากซ้าย) และนายกรพล ชินพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ (ซ้าย) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในกระทรวงการคลัง ในบันทึกความเข้าใจในโครงการความร่วมมือด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์และนำเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้ารายย่อยทั่วไป ให้มีทางเลือกหลากหลายและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้มากยิ่งขึ้น ด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพและบตท. มีเป้าหมายการดำเนินโครงการร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยและตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพในระยะยาว

ที่มา : http://www.bangkokbank.com/
ผู้สืบค้นข้อมูล : นางสาวศิริภักตร์ เกิดผล รหัส 050
วันที่สืบค้นข้อมูล : 23 เมษายน 2557



ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2557 จำนวน 8,965 ล้านบาท

ข่าวประชาสัมพันธ์

18 เมษายน 2557

กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 10.9

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2557 จำนวน 8,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,279 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.6 จากไตรมาส 4 ปี 2556 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 194 ล้านบาท รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 489 ล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 1,147 ล้านบาท

ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจเพื่อการลงทุนหรือขยายกิจการ อย่างไรก็ตาม การดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทำให้ธนาคารเข้าใจความต้องการและให้การสนับสนุนลูกค้าได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังคงอยู่ในสัดส่วนเท่ากับสิ้นปีก่อน โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 1,745,919 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจาก ณ สิ้นปี 2556 เนื่องจาก
ความต้องการสินเชื่อสำหรับลูกค้าธุรกิจรายใหญ่เติบโตลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่สินเชื่อเพื่อใช้เป็น
เงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 45,003 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อที่ร้อยละ 2.2 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับ ณ สิ้นปี 2556 เนื่องจากธนาคารให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินเชื่อ ตั้งแต่ขั้นตอนการอนุมัติ จนถึงการติดตามตรวจสอบคุณภาพสินเชื่อหลังอนุมัติอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันธนาคารยังคงแนวทางการบริหารกิจการอย่างระมัดระวังและมีการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองฯ จำนวน 2,103 ล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็นร้อยละ 210.1

ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 1,932,921 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 โดยลดลงร้อยละ 0.1 จากสิ้นปี 2556 ขณะที่เงินให้สินเชื่อลดลงร้อยละ 0.4 จากสิ้นปี 2556 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากลดลงจากร้อยละ 90.6 ณ สิ้นปี 2556 เป็นร้อยละ 90.3

ในไตรมาส 1 ปี 2557 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 14,067 ล้านบาท และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.28 ในไตรมาส 4 ปี 2556 เป็นร้อยละ 2.30 ในไตรมาสนี้ เนื่องจากผลตอบแทนจากเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น ในขณะที่ธนาคารสามารถบริหารต้นทุนเงินฝากได้ดี รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 8,671 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 489 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.0 จากไตรมาส 4 ปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่จากกำไรสุทธิจากเงินลงทุน กำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และรายได้จากเงินปันผล

ธนาคารยังคงควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี โดยมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 1,147 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.9 จากไตรมาส 4 ปี 2556 เป็น 9,412 ล้านบาท และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงจากร้อยละ 47.9 ในไตรมาส 4 ปี 2556 เป็นร้อยละ 41.4 ในไตรมาสนี้

ด้านเงินกองทุน หากนับรวมกำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 และกำไรสุทธิใน
ไตรมาส 1 ปี 2557 เข้าเป็นเงินกองทุนของธนาคาร หักด้วยเงินปันผลที่จะจ่ายในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง จะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 17.6 ร้อยละ 15.3 และ
ร้อยละ 15.3 ตามลำดับ

ส่วนของเจ้าของ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2557 มีจำนวน 306,799 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.8 ของสินทรัพย์รวม และมูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 160.73 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 5.70 บาท จากสิ้นปี 2556

ที่มา: http://www.bangkokbank.com/
สืบค้นโดย: นางสาวจุฑารัตน์ ยมนานนท์ รหัส 002
วันที่สืบค้นข้อมูล วันที่ 20 เมษายน 2557




ธนาคารกรุงเทพ ได้รับการยกย่องจากวารสารการเงินธนาคาร ครองตำแหน่ง Bank of the Year 2014


16 เมษายน 2557


ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้รับการประกาศยกย่องจากวารสารการเงินธนาคารครองตำแหน่ง "ธนาคารแห่งปี 2557 หรือ Bank of the Year 2014" นับเป็นครั้งที่ 7 ตั้งแต่ปีพ.ศ.2550 ที่ธนาคารกรุงเทพสามารถคว้าตำแหน่งดังกล่าว สำหรับความโดดเด่นในครั้งนี้นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการทำกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 3 ของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์แล้ว ธนาคารยังมุ่งเน้นในเรื่องของความแข็งแกร่งและความมั่นคงในฐานะการเงิน โดยมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงสุดเป็นอันดับ 1 ถึง 89,697.17 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่ออยู่ในอัตราที่สูงถึง 5.12% รวมทั้งยังดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมทั้งสิ้น 16.92% โดยมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ 14.40% และเงินกองทุนขั้นที่ 2 ที่ 2.52% ทั้งนี้ ธนาคารได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดคล้องกับโอกาสและการเปลี่ยนแปลงที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยผสมผสานระหว่างการบริหารงานด้วยความระมัดระวังรอบคอบเพื่อให้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง แต่ก็พร้อมที่จะเติบโตเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา ธนาคารมีการเติบโตจากลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีก ลูกค้าบุคคล และลูกค้าต่างประเทศ เนื่องจากธนาคารมีการติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทำให้ธนาคารสามารถคาดการณ์ความต้องการด้านต่างๆ ของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง และสามารถสนับสนุนลูกค้าในด้านต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งธนาคารพร้อมที่จะเติบโตเคียงข้างไปกับลูกค้า สมกับปณิธานที่ได้ยึดถือมาโดยตลอด คือ "เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน"

ที่มา : http://www.bangkokbank.com/
ผู้สืบค้นข้อมูล : นางสาวศิริภักตร์ เกิดผล รหัส 050
วันที่สืบค้นข้อมูล : 23 เมษายน 2557