องค์กรแห่งนวัตกรรม

ความคิดที่จะก่อตั้งธนาคารของคนไทยอย่างแท้จริง เริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐชาติในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2483-2492 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารต่างชาติมีอิทธิพลเหนือภาคการเงินของไทย ขณะนั้นนักธุรกิจไทยประสบปัญหาด้านแหล่งเงินทุนและการสนับสนุนจากธนาคารต่างชาติ ในภาวะที่คนไทยต้องการแรงสนับสนุนจากบริการธนาคารเช่นนี้ธนาคารกรุงเทพจึงถือกำเนิดขึ้นในปีพ.ศ. 2487 และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ จนธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารไม่ได้หยุดอยู่เพียงให้บริการแก่คนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ยังได้ขยายการให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ มากมาย จนก้าวขึ้นเป็นธนาคารที่มีบทบาทเด่นในประเทศไทย และเป็นธนาคารที่มีลูกค้าอย่างกว้างขวางจากทุกวงการ โดยเฉพาะบริษัทธุรกิจชั้นนำของประเทศ
 
กุญแจสำคัญที่ทำให้ธนาคารกรุงเทพประสบความสำเร็จมาตลอด ได้แก่ การริเริ่มนวัตกรรมต่าง ๆ และการคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ธนาคารมีเจตจำนงที่จะขยายและพัฒนาบริการอยู่เสมอ ไม่ว่าในยามที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาการเติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว หรือในยามที่บ้านเมืองประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและ การเมืองต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า หรือแม้กระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคในปีพ.ศ. 2540
 

First Branch

ถือกำเนิดในท่ามกลางสงคราม
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาคธุรกิจการเงินของไทยอยู่ในมือของธนาคารต่างชาติเกือบทั้งหมด แต่เมื่อสงครามเริ่มขึ้น สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลจำต้องเข้าร่วมสงครามในฐานะพันธมิตรกับญี่ปุ่น ธุรกิจและธนาคารพาณิชย์ที่เป็นของชนชาติยุโรปหรือฝ่ายสัมพันธมิตรจึงถูกควบคุมและปิดกิจการในทันที 
 
สภาพการณ์เช่นนี้ ได้เปิดโอกาสให้คนไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการ นักธุรกิจ และกลุ่มบุคคลผู้มีแนวคิดตรงกัน มาร่วมมือกันก่อตั้งธนาคารของคนไทยที่มีความพร้อมในการให้บริการทางการเงินแก่คนไทยอย่างเต็มรูปแบบขึ้น ธนาคารกรุงเทพได้จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ 2487
 
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2487 มีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารพาณิชย์สองคูหาในย่านราชวงศ์ ใจกลางกรุงเทพฯ ในขณะนั้น มีพนักงานทั้งสิ้น 23 คน และมีหลวงรอบรู้กิจเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ท่านแรก ท่านเป็นผู้ริเริ่มสร้างฐานลูกค้าของธนาคารด้วยการให้บริการตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ธนาคารกรุงเทพในยุคต้น มีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนการผลิตและการค้าของคนไทยเพื่อฟื้นฟูประเทศภายหลังสงครามอย่างเต็มความสามารถ
 

Mr. Chin Sophonpanich

บทบาทแรกก่อตั้ง : ร่วมสร้างชาติ
ระหว่างพ.ศ. 2495 ถึง 2520 นายชิน โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพท่านที่สองได้พัฒนางานธนาคารให้ก้าวไกล และมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ

นายชินเป็นผู้วางทิศทางให้ธนาคารขยายเครือข่ายสาขาไปสู่ท้องที่ห่างไกลทั่วประเทศ ซึ่งมีผลิตผลทางการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงนี้เอง ธนาคารกรุงเทพ ได้ก้าวขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่ให้บริการด้านการเงินครบวงจร รวมทั้งการออก "เลตเตอร์ออฟเครดิต" แก่ธุรกิจส่งออกและนำเข้า


First Overseas Branch

ยุคก้าวสู่ระดับนานาชาติ
เมื่อสร้างรากฐานในประเทศไทยอย่างมั่นคงดีแล้ว ธนาคารกรุงเทพจึงให้ความสำคัญต่อการสร้างฐานในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ในเดือนมิถุนายน พ.ศ 2497 ธนาคารได้เปิดสาขาต่างประเทศเป็นแห่งแรกที่ฮ่องกง และในปีถัดมา เปิดสาขาที่สองขึ้นที่โตเกียว หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้เปิดอีกสาขาที่สิงคโปร์ ทำให้ธนาคารสามารถให้บริการทางธุรกิจอย่างครบวงจร เนื่องจากประเทศไทยทำธุรกิจการค้ากับประเทศทั้งสามนี้อยู่เป็นจำนวนมาก


Mr. Boonchu Rojanasatien

ยุคปฏิรูปและสร้างความปึกแผ่น
นายบุญชู โรจนเสถียร ได้ก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ท่านที่สามเมื่อพ.ศ. 2520 และได้ลาออกเพื่อเข้าสู่งานการเมืองในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในพ.ศ. 2523 ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังชะลอตัวจากปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่ก็แทบจะไม่มีผลต่อการเติบโตก้าวหน้าของธนาคาร  นายบุญชูได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปการทำงานครั้งใหญ่ เพื่อให้ธนาคารมีความทันสมัยมีมาตรฐานทัดเทียมกับต่างประเทศ  รวมทั้งนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและพนักงานของธนาคารอย่างต่อเนื่อง
 

Mr. Chatri Sophonpanich

ยุคทองแห่งการเติบโตที่ก้าวกระโดด
นายชาตรี โสภณพนิช เข้ารับหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพท่านต่อมา ตั้งแต่พ.ศ. 2523 ถึง 2535  และได้นำธนาคารก้าวเข้าสู่ 'ยุคทอง' อย่างแท้จริง โดยในระหว่างช่วงเวลา 12 ปีที่ท่านนำการบริหารธนาคารอยู่นั้น ผลประกอบการของธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 12 เท่า และนับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถทำกำไรสุทธิต่อปีได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น และติดอันดับธนาคารชั้นนำ 200 แห่งของโลก
 

Dr. Vichit Suraphongchai

ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงและดาวจรัสแสงดวงใหม่
ดร.วิชิต สุรพงศ์ชัย ได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพในพ.ศ. 2535  ในฐานะผู้บริหารที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในความรู้ความสามารถที่สูงเด่น เป็น'ดาวจรัสแสงดวงใหม่' ของวงการธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งในช่วงนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของธนาคารพาณิชย์ไทยถึง 5 ธนาคารในเวลาใกล้เคียงกัน  ดร. วิชิตมีผลงานสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อธนาคารกรุงเทพหลายประการ โดยเฉพาะผลงานทางด้านกิจการธนาคารต่างประเทศ   ดร.วิชิตลาออกจากธนาคารในปีพ.ศ. 2537


Mr. Chartsiri Sophonpanich

ยุคแห่งวิกฤตการณ์และการเปลี่ยนแปลง
นายชาติศิริ โสภณพนิช ผู้บริหารหนุ่มบุตรชายคนโตของนายชาตรี โสภณพนิช คือบุคคลที่ได้รับเลือกสรรให้เป็นผู้นำในการสืบทอดเจตนารมณ์ของธนาคารสู่ทศวรรษใหม่ของการประกอบการในปี 2537

ในชั่วเวลาเพียง 3 ปี หลังจากที่นายชาติศิริ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่  ความเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เจริญรุ่งเรืองติดต่อกันมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี ก็ได้อวสานลง ด้วยวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นทั่วทวีปเอเชียในปีพ.ศ. 2540 ซึ่งเริ่มต้นจากค่าเงินบาทตกต่ำลงอย่างมาก หลังจากที่ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบลอยตัว สถาบันการเงินทั่วเอเชียประสบปัญหาอันหนักหน่วง จนประสบภาวะล้มละลายไปหลายแห่ง สถาบันการเงินที่ยังเหลืออยู่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้  เพราะลูกค้าสำคัญจำนวนกว่าครึ่งค่อนของธนาคาร พากันประสบปัญหาทางการเงิน ยุคแห่งการขยายตัวและการเติบโตกลายเป็นยุคแห่งความยากลำบากในการทำธุรกิจ และเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางภาวะแห่งอุปสรรคอันหนักหน่วงเช่นนี้ นายชาติศิริกลับมุ่งมั่นเปลี่ยน 'วิกฤต' เป็น 'โอกาส' ริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ขึ้นหลายประการ เพื่อเสริมสร้างรากฐานทางการเงินของธนาคารให้แข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง และเพื่อให้ธนาคารสามารถธำรงรักษาความเป็นผู้นำในการให้บริการ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ไว้

มุ่งสู่สหัสวรรษใหม่
จากจุดเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีพ.ศ. 2487  ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีสินทรัพย์รวมกว่า 1,725,000 ล้านบาท และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์หลายระบบที่ธนาคารกรุงเทพใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นระบบที่ก้าวหน้าที่สุดในภูมิภาค
 
ธนาคารยังขยายเครือข่ายให้เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีสาขาทั่วประเทศกว่า 1,100 สาขา และมีเครื่องเอทีเอ็มและเครื่องรับฝากเงินสดอัตโนมัติให้บริการอยู่ทุกแห่งหนทั่วประเทศ ธนาคารมีเครือข่ายสาขาต่างประเทศทั้งหมด 27 สาขา และบริษัทย่อยที่ธนาคารถือหุ้นทั้งหมด 2 บริษัทและสำนักงานตัวแทนอีก 1 แห่ง ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงศูนย์กลางธุรกิจของโลก เช่น โตเกียว ลอนดอน และนิวยอร์ก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น